ตี่บ้านไร่ต้นฝัน ปลูกข้าวอินทรีย์ มาเมิน(นาน)แล้ว ขั้นตอนเริ่ม ปลูกข้าว เฮาจะกันที่แปลงเล็กๆ ผืนหนึ่ง ทางภาคเหนือเฮาฮ้องว่า “ตะกล้าข้าว” ก็คือแปลงเพาะต้นกล้าข้าวนั่นแหละเจ้า เฮาหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำจนงอกแล้วลงไปในแปลง รอจนข้าวเติบโตจนเป็นต้นกล้า พอต้นกล้าโตได้สักเดือนหนึ่ง เฮาก็จะถอนกล้า เรียกว่า “ตกกล้า” เพื่อนำไปดำนา ก่อนเพาะต้นกล้า เฮาบ่ได้ฉีดยาฆ่าหญ้าเน้อ ใช้เครื่องตัดหญ้าแล้วไถกลบ
เมล็ดพันธุ์ข้าว ก็เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เฮาเก็บไว้ใช้เอง เป็นเมล็ดพันธุ์ออร์แกนิคจากฤดูกาลที่แล้ว บ่ได้คลุกยาเคมีกันแมลงใดใดทั้งสิ้น
เรื่องปุ๋ย เฮาก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ บ่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีเด็ดขาด ข้าวของเฮาเลยเป็นข้าวออร์แกนิคตั้งแต่กำเนิดเลย
ลงแขกดำนา
การลงแขกดำนาคือการร่วมแรงของเพื่อนชาวนามาช่วยกันดำนา เสร็จจากนาคนนี้ ก็ไปช่วยกันนาคนโน้นเป็นประเพณีที่สวยงามของชาวนาไทย แต่เดี๋ยวนี้ก็จึดจางลงไปบ้าง คือต้องมีการจ่ายค่าจ้างบางคนที่ไม่ได้ทำนาของตัวเอง แต่ประสงค์จะรับจ้างทำนาเพื่อเป็นรายได้ไปเลียงครอบครัว ก็เป็นวิถีชีวิตหนึ่งของเกษตรกรแถวๆ บ้านไร่ต้นฝันของเฮา
เฮาจะมัดกล้าข้าวเป็นมัดๆ แล้วโยนมัดกล้าไปไว้ในนาเป็นระยะๆ เพื่อให้หน่วยดำนาถอยมาหยิบแล้วปักดำต่อ ไม่ต้องลำบากขึ้นจากโคลนในแปลงนาเพื่อมาหยิบให้เสียเวลา และเสียพลังงาน
พอเย็นย่ำผืนนาบ้านไร่ต้นฝันก็เต็มไปด้วยต้นกล้าข้าวที่ยืนต้น ท้าแดดท้าฝน รอวันเติบโต ออกรวงให้ข้าวแก่เรา
ลองเข้าไปดูข้าวของเฮาได้ ที่นี่
หรือสะดวกซ็อปที่ Shopee ก็กดลิ้งค์ที่ Shopee ได้เลยเจ้า
บ้านไร่ต้นฝันใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยออร์แกนิค) ในการทำนามานานร่วมจะ 10 ปีแล้ว ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างสิ้นเชิงเลย เราใช้ปุ๋ยอินทรีย์หลายแบบเหมือนกันในการทำนา แล้วก็ใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอด้วยนะ ไม่อยากให้ต้นข้าวหิว เดี๋ยวข้าวโมโหหิวไม่ออกรวงหรือออกรวงไม่ดีให้เราแล้วจะยุ่งกันใหญ่
ตัวแรก เราใช้อินทรียวัตถุชีวภาพ สูตรเพาะกล้า ตรามดเขียว ในขั้นตอนเพาะต้นกล้าข้าว มันเป็นทั้งอาหารของต้นกล้า และมีจุลินทรีย์ไทโคเดอม่าป้องกันโรครากเน่าให้ข้าวด้วย
ตัวที่ 2 เราใช้ อินทรียวัตถุปรับปรุงดิน ตรามดเขียว 100 กิโลกรัมต่อไร่ก่อนไถแปร เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ซึ่งมีทั้งอาหารของต้นข้าวและยังช่วยอุ้มน้ำ อุ้มสารอาหารอื่นเอาไว้ให้ข้าวได้กินนานๆ แถมยังทำให้ดินร่วนซุยไม่แน่นแข็งรากข้าวที่จะแตกแขนงจะได้ชอนไชได้อย่างอิสระเสรี
ตัวที่ 3 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดปั้นเม็ด ตรามดเขียว ปุ๋ยตัวนี้ใช้หลายครั้ง หว่านครั้งแรกหลังจากดำนาได้ 10 วัน ไร่ละ 50 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 จะหว่านตอนข้าวแตกกอ คือหลังจากดำนาได้ 30-40 วัน หว่าน 100 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 3 จะหว่านอีกทีต้อนข้าวตั้งท้อง คือหลังจากข้าวแตกกอไปอีกประมาณ 30 วัน ตอนนี้จะใช้อีก 50 กิโลต่อไร่
ตัวที่ 4 เราใช้น้ำสกัดชีวภาพ สูตรเร่งการเจริญเติบโต เป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่ช่วยเร่งให้ข้าวโตและแข็งแรง เราใช้แช่ในเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ข้าวงอกก่อนหว่านกล้า, เราเทลงไปพร้อมกับปล่อยน้ำเข้านาเพื่อไปหมักซากวัชพืชที่ตายแล้วให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยได้อีก, แล้วเราก็ยังผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 500 นำไปฉีดพ่นให้อาหารข้าวทางใบเป็นระยะๆ
วันนี้บ้านไร่ต้นฝันขอเล่าเรื่องแมลงๆ ให้ฟังนะจ๊ะ การไม่ใช้สารเคมีในนาข้าวทำให้นาของเรามีเพื่อนๆ แมลงมากมายเข้ามาอยู่อาศัยกันอย่างสุขสบาย แมลงเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า “ตัวห้ำ” และ “ตัวเบียน” เป็นคำที่ใช้เรียกแมลงฝ่ายดี ตัวห้ำก็แยกได้หลายชนิด ตัวเบียนก็แยกไปอีกหลายชนิด ขอไม่แยกแยะให้ฟังก็แล้วกันนะ(กลัวผิด) เอาเป็นแมลงเหล่านี้เข้ามาอาศัยแล้วสร้างสมดุลให้นาข้าวของเรา โดยช่วยกัดกินแมลงที่ทำร้าย ทำลายข้าวของเรา ทำให้เราไม่ต้องใช้สารเคมีหรือสารอินทรีย์ฆ่าหรือไล่แมลงศัตรูข้าว พูดได้ว่าพวกเขาช่วยดูแลข้าวให้เราอีกแรง มันเป็นวัฏจักรอย่างหนึ่ง คือ เราไม่ให้สารเคมีฆ่าแมลง พวกแมลงดีๆ ก็เข้ามาอยู่อาศัยในนาของเรา แมลงดีก็จะเป็น รภป. คอยจัดการแมลงร้ายให้เรา เราก็ไม่ต้องใช้สารเคมีในการฆ่าแมลง ไม่เปลือง ไม่บาปด้วย ฟังดู! ก็ง่ายๆ นะจ๊ะ แต่ก็ไม่ง่ายนะจ๊ะ
ในภาพที่โฟสต์ให้ดูก็มี แมงมุมลาย ตัวนี้ชักใยระหว่างใบข้าวดักเหยี่อกันเลย
ตัวที่สองคือ แมลงปอ ที่เรารู้จักกันดี ในกรุงเทพฯไม่ค่อยได้เห็นกันแล้วเน้าะ
แต่ที่นาตอนเย็นบินกันว่อนเลย
ตัวที่ 3 ก็ ตั๊กแตน ตัวนี้ก็กระโดดเกาะใบโน้นทีใบนี้ที
ตัวที่ 4 อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็น “มวนพิฆาต” หรือเปล่า เพราะถ่ายตอนเข้าตรู่มันขดตัวอยู่ใต้ใบข้าวดูได้ไม่ชัดเจน,
เจ้าตัวสุดท้าย คือ ตัวอ่อน ของ “ด้วงเต่าลาย” เป็นตัวห้ำชนิดหนึ่งที่คอยกัดกินแมลงศัตรูพืชอีกที
ไว้วันหน้าจะถ่ายภาพแมลงแปลกๆ มาฝากกันอีกนะ แต่ตอนนี้ขอฝากข้อคิดที่คุ้นเคยกันดี “เราดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติก็ดูแลเรา” สวัสดี….
ข่าวเรื่อง ข้าวเน่า ข้าวมีสารปนเปื้อน ข้าวรมยา ใช้สารเคมีฉีดพ่นข้าวเพื่อเก็บข้าวที่เป็นอันตราย ทำให้ประชาชนคนกินข้าวไม่สบายใจไปตามๆ กัน ยิ่งกระแสการโพสต์ต่อ ๆ กันในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กจนทำให้ความน่าตกใจขยายเป็นวงกว้าง แต่ที่มีอะไรมากกว่าอันตรายจากการรมยาข้าวก็ยังมีที่เราๆ ท่านๆ ไม่รู้ปัญหา
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ข้าวที่เรากินไม่ปลอดภัยอยู่ที่ความชื้นและสารเคมีปนเปื้อน ทั้งจากสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรในระหว่างการเพาะปลูกเช่นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าวัชพืช การพ่นยาฆ่าแมลงศัตรูข้าว ไปจนถึงสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าว ก็คือการใช้สารเคมีรมยาฆ่ามอด ป้องกันมอด โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2540 ของไทยเรานั้น มุ่งเน้นความปลอดภัยไปที่ความชื้นเป็นสำคัญ กล่าวว่าสินค้าข้าวทุกประเภทจะต้องมีความชื้น ไม่เกินร้อยละ 14 ส่วนกฎหมายที่ใช้เป็นสากลอย่าง CODEX STANDARD FOR RICE (CODEX STAN 198-1995) นั้นจะกำหนดความชื้นของข้าวทุกชนิด ไม่เกินร้อยละ 15 ข้าวจะต้องปราศจากแมลง กลิ่นผิดปกติ ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อนจากสารกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงตกค้าง และสารโลหะหนัก จะเห็นได้ว่าความชื้นมีผลทั้งต่อคุณภาพและความปลอดภัย เพราะหากข้าวมีความชื้นสูงมาก ๆ ในเชิงความปลอดภัย อาจเป็นที่มาของการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งรา ยีสต์ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ ดังนั้นข่าวข้าวเน่าที่เราได้ยิน ได้ฟังมา จึงอาจเป็นไปได้ หากการจัดเก็บที่ไม่มีสุขลักษณะที่ดี การจัดเก็บข้าวอย่างไม่เหมาะสมทำให้ข้าวชื้น หรือเปียก เป็นที่มาของข้าวเน่าได้ ซึ่งปัญหามีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นข่าวใหญ่ในตอนนี้เอง
ส่วนประเด็นเรื่อง สารรมยา ทั้งจากข่าวที่ว่าข้าวอันตราย ลองพิจารณาจากสารเคมีที่ใช้ในการนี้กันดู ฟอสฟีน (Phosphine) หรือ เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) นั้นเป็นสารที่ผู้ประกอบการทั่วโลกใช้ในการรมยาพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลผลิตเกษตรโดยการใช้สารรมยาที่ชื่อ เมทิลโบรไมด์ และฟอสฟีนเป็นสารที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เนื่องจากสามารถทำลายแมลงศัตรูได้ทุกชนิดและทุกระยะการเจริญเติบโต ไม่มีพิษตกค้าง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารฆ่าแมลง เมื่อใช้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง แต่ในแง่ของคนกินอย่างเราก็ต้องคิดหล่ะว่า ไอ้นี่มันสารเคมีนี่หว่าจะเอาเข้าปากเราดีมั้ย? แล้วอีกอย่างเราจะเชื่อถือจรรยาบรรณของเจ้าของโกดังเก็บข้าวของไทยได้หรือเปล่านะ?
ทั้งนี้ การรมสารกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นวิธีการเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว และเพิ่มมูลค่าของสินค้า วิธีการรมยาไม่ยุ่งยากซับซ้อน ง่ายมากทำได้สะดวกและรวดเร็ว แต่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่กำหนด จริงแล้วทุกประเทศทั่วโลกก็ใช้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นมาตรฐาน SPS และได้รับการกำหนดให้ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชภายในโรงเก็บจากคณะอนุกรรมการด้านสุขอนามัยขององค์การค้าโลก (WTO) เพราะมันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะหาได้ตอนนี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมข้าวและอุตสาหกรรมอาหารที่เก็บและผลิตครั้งละมากๆ ก็เลยจำต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีกันอยู่ต่อไป
หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้องรมยา Read More
คนกินข้าวอย่างเราโดนคำพูดกรอกหูมานานจนฝังหัวไปแล้วว่า ข้าวหุงขึ้นหม้อ เป็นข้าวที่ดี บวกกับเมื่อมองทางกายภาพแล้วมันก็ดูฟูน่ากิน ยิ่งพอเปิดหม้อหุงข้าวแล้วได้กลิ่นฉุยและสัมผัสความร้อนที่กระจายมากระทบใบหน้าแล้ว…ต้องยอมรับว่ามันเพิ่มความน่ากินเข้าไปอีก เมื่อตาเห็น จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส ก็เสร็จมันซะจานสองจาน…อิ่มแปล้
ความจริง! ข้าวที่หุงขึ้นหม้อส่วนใหญ่จะเป็นข้าวขาว ถูกขัดสีซะจนขาว มันคือข้าวแบบที่เราซื้อตามห้างถุงละ 5 กิโลนี่แหละ รู้มั้ยครับมันถูกเก็บมาเป็นปีปี บางที 2 -3 ปี ด้วยเหตุผลหลายประการของโรงสีซึ่งก็คือพ่อค้านี่แหละครับ บ้างก็เพื่อเก็งกำไร บางเพื่อส่งออกแต่ไม่ได้ส่ง บ้างก็ไปซื้อต่อมาจากพ่อค้าคนอื่นอีกต่อ ฯลฯ การเก็บข้าวเขาทำกันอย่างไร ลองอ่านดูในเรื่องข้าวเรื่องที่แล้วดูนะครับ แต่ในที่นี้ผมจะพูดถึงความชื้นครับ ข้าวที่ถูกเกี่ยวมาใหม่ๆ จากมีความชื้นสูง พ่อค้าไม่ชอบความชื้นสูงเพราะข้าวมันจะหนัก พ่อค้าจะได้กำไรน้อย
สมมติว่า ถ้าเป็นข้าวเกี่ยวใหม่ใน 1 กิโลกรัม มีข้าว 100,000 เมล็ด แต่ถ้าทิ้งไว้สักเดือนหนึ่ง ข้าว 1 กิโลกรม จะมีเมล็ดข้าว 110,000 เมล็ด ดังนั้นพ่อค้าก็ต้องอยากได้ปริมาณข้าวที่เยอะกว่าใช่มั้ยครับ ถ้าแต่ขณะนี้ชาวนาอยากขาย ถ้าไม่ซื้อก็ไม่ได้เดี๋ยวเขาไปขายเจ้าอื่นขึ้นมาก็อดได้ข้าว ก็เลยอ้างว่า “ข้าวชื้นเกินไป” จากข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 14 บาท อาจจะเหลือ 12 บาท
อ้าว!…ไปๆ มาๆ ดันไปพูดถึงพ่อค้าซะนี่ กลับเข้าเรื่องดีกว่า ข้าวที่เกี่ยวใหม่ๆ จะมีความชื้นสูง ความชื้นสูงเนี่ยะ ดีนะครับ มันหมายถึงในเมล็ดข้าวจะมีน้ำอยู่ภายใน เมื่อหุงสุกแล้วลองกินดูจะรู้สึกว่า เมื่อกัดเข้าไปในเมล็ดจะมีความชุ่มฉ่ำ ไม่แห้ง ไม่แข็ง ไม่สาก ข้าวจะมีความเหนียว ยืดหยุ่นดี หนึบหนับ แม้จะเป็นข้าวสารก็เถอะ ไม่เชื่อลองหาข้าวใหม่ที่เพิ่งเกี่ยวเสร็จมากินดู แต่ข้อเสียของข้าวใหม่คือ “หุงไม่ขึ้นหม้อ” จริงมันก็เป็นของมันปกติแบบนั้นมาตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว คนเราไปนิยามมันเองว่า แบบที่พ่อค้าเจ้าใหญ่ผลิตมาขายคือข้าวหุงขึ้นหม้อ อีกแบบเลยกลายเป็นข้าวที่หุงไม่ขึ้นหม้อไปโดยปริยาย
ที่นี้มาดูข้าวหุงขึ้นหม้อกันบ้าง…ทำไมมันถึงขึ้นหม้อ? คำตอบคือก็เพราะข้าวเหล่านี้มันถูกเก็บไว้นานมาก นานจนความชื้นในข้าวมันหายไปหมด เมื่อนำไปหุงก็ต้องใส่น้ำมากกว่าข้าวเกี่ยวใหม่ ในขณะที่หุง…เมื่อข้าวที่แห้งพบกับน้ำ มันก็จะดูดน้ำเข้าไปไว้ในตัวมัน ดูดแล้วดูดอีก แล้วตัวมันก็จะฟูขึ้น พองขึ้น บวมขึ้น หลายๆ เมล็ดรวมกันมันก็เลยเบียดเสียดกันยกตัวกันขึ้นจนสูงท่วมหม้อหุงข้าว เมื่อเราเปิดหม้อก็ แอ่น แอน แอ๊น…ข้าวหุงขึ้นหม้อเลย ถ้าจะเปรียบมันก็เหมือนกับคุณแช่ขนมปังในน้ำ ทิ้งมาม่าไว้ในชามนานๆ มันก็จะพองหรืออืดขึ้น หรือยุคหนึ่งที่เรานิยมไอ้ตัวดูด ที่พอนำมันมาแช่น้ำมันจะขยายตัวเป็นรูปต่างๆ นั่นแหละครับ
บ้านไร่ต้นฝัน เฮาปลูกข้าวแบบนาโยนด้วย เป็นการตัวอย่างให้คนในหมู่บ้านของเฮา เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการปลูกข้าวที่สูงขึ้นทุกปี และลดปัญหาแรงงานปลูกข้าว รวมทั้งลดความเหนื่อยของหมู่เฮาเอง
เราเพาะกล้าในกระบะเพาะกล้าขนาด 434 หลุม ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรงจนใครเห็นก็ร้องทักว่าข้าวเราเขียวดีจัง
เปิดดูรากด้านล่าง ก็มีรากที่สมบูรณ์ดีมาก แทงทะลุรูใต้ถาดออกมาหากินเลย
เห็นกันชัดๆ ไปเลยตันข้าวของเรา ถ้าน่าตาข้าวแข็งแรงขนาดนี้ปีนี้ข้าวของเราคงได้ผลผลิตเยอะแน่ๆ
อุ๊ยคำ แห่งบ้านไร่ต้นฝัน ชาวนาตัวจริง เป็นชาวนามาทั้งชีวิต แต่ปีนี้ขอเป็นคนแรกที่ปลูกข้าวนาโยนของอำเภอลองนะเจ้า
รอยยิ้มของสาวชาวนา(วัย 80 ขวบ) ชาวนารุ่นเก่า แต่มีแนวคิดทันสมัย ยอมรับวิธีทำนาใหม่ๆ ที่ใคร่ครวญแล้วว่าดี แม้มันจะขัดกับขนบที่เคยคุ้นมาตลอดชีวิต เราคอยติดตามดูกันต่อไปว่า ปีนี้ อุ๊ยคำแห่งบ้านไร่ต้นฝัน จะยิ้มได้กว้างกว่าภาพนี้หรือไม่ตอนเกี่ยวข้าว