26
Oct
ข่าวเรื่อง ข้าวเน่า ข้าวมีสารปนเปื้อน ข้าวรมยา ใช้สารเคมีฉีดพ่นข้าวเพื่อเก็บข้าวที่เป็นอันตราย ทำให้ประชาชนคนกินข้าวไม่สบายใจไปตามๆ กัน ยิ่งกระแสการโพสต์ต่อ ๆ กันในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กจนทำให้ความน่าตกใจขยายเป็นวงกว้าง แต่ที่มีอะไรมากกว่าอันตรายจากการรมยาข้าวก็ยังมีที่เราๆ ท่านๆ ไม่รู้ปัญหา
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ข้าวที่เรากินไม่ปลอดภัยอยู่ที่ความชื้นและสารเคมีปนเปื้อน ทั้งจากสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรในระหว่างการเพาะปลูกเช่นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าวัชพืช การพ่นยาฆ่าแมลงศัตรูข้าว ไปจนถึงสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าว ก็คือการใช้สารเคมีรมยาฆ่ามอด ป้องกันมอด โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2540 ของไทยเรานั้น มุ่งเน้นความปลอดภัยไปที่ความชื้นเป็นสำคัญ กล่าวว่าสินค้าข้าวทุกประเภทจะต้องมีความชื้น ไม่เกินร้อยละ 14 ส่วนกฎหมายที่ใช้เป็นสากลอย่าง CODEX STANDARD FOR RICE (CODEX STAN 198-1995) นั้นจะกำหนดความชื้นของข้าวทุกชนิด ไม่เกินร้อยละ 15 ข้าวจะต้องปราศจากแมลง กลิ่นผิดปกติ ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อนจากสารกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงตกค้าง และสารโลหะหนัก จะเห็นได้ว่าความชื้นมีผลทั้งต่อคุณภาพและความปลอดภัย เพราะหากข้าวมีความชื้นสูงมาก ๆ ในเชิงความปลอดภัย อาจเป็นที่มาของการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งรา ยีสต์ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ ดังนั้นข่าวข้าวเน่าที่เราได้ยิน ได้ฟังมา จึงอาจเป็นไปได้ หากการจัดเก็บที่ไม่มีสุขลักษณะที่ดี การจัดเก็บข้าวอย่างไม่เหมาะสมทำให้ข้าวชื้น หรือเปียก เป็นที่มาของข้าวเน่าได้ ซึ่งปัญหามีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นข่าวใหญ่ในตอนนี้เอง
ส่วนประเด็นเรื่อง สารรมยา ทั้งจากข่าวที่ว่าข้าวอันตราย ลองพิจารณาจากสารเคมีที่ใช้ในการนี้กันดู ฟอสฟีน (Phosphine) หรือ เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) นั้นเป็นสารที่ผู้ประกอบการทั่วโลกใช้ในการรมยาพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลผลิตเกษตรโดยการใช้สารรมยาที่ชื่อ เมทิลโบรไมด์ และฟอสฟีนเป็นสารที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เนื่องจากสามารถทำลายแมลงศัตรูได้ทุกชนิดและทุกระยะการเจริญเติบโต ไม่มีพิษตกค้าง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารฆ่าแมลง เมื่อใช้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง แต่ในแง่ของคนกินอย่างเราก็ต้องคิดหล่ะว่า ไอ้นี่มันสารเคมีนี่หว่าจะเอาเข้าปากเราดีมั้ย? แล้วอีกอย่างเราจะเชื่อถือจรรยาบรรณของเจ้าของโกดังเก็บข้าวของไทยได้หรือเปล่านะ?
ทั้งนี้ การรมสารกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นวิธีการเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว และเพิ่มมูลค่าของสินค้า วิธีการรมยาไม่ยุ่งยากซับซ้อน ง่ายมากทำได้สะดวกและรวดเร็ว แต่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่กำหนด จริงแล้วทุกประเทศทั่วโลกก็ใช้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นมาตรฐาน SPS และได้รับการกำหนดให้ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชภายในโรงเก็บจากคณะอนุกรรมการด้านสุขอนามัยขององค์การค้าโลก (WTO) เพราะมันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะหาได้ตอนนี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมข้าวและอุตสาหกรรมอาหารที่เก็บและผลิตครั้งละมากๆ ก็เลยจำต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีกันอยู่ต่อไป
หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้องรมยา นั่นเพราะผู้ประกอบการต้องการให้อายุการจัดเก็บข้าวมีอายุยาวนานขึ้นด้วยเหตุผลทางการค้าที่เราต้องส่งออกข้าวไปขายนานับประเทศทั่วโลก เพราะข้าวทั่วไปที่ไม่รมยา เพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน มอดและแมลงก็ทำการกัดกินข้าวจนเสียหายเป็นที่เรียบร้อย แต่เนื่องจากสารฟอสฟีนและเมทิลโบรไมด์นั้นด้วยคุณสมบัติทางเคมีเป็นที่เป็นก๊าซ จะสามารถสลายตัวอย่างรวดเร็วในสภาวะเปิด นั่นเป็นที่มาว่าทำไมจึงไม่มีอันตรายตกค้างในข้าวจากสารที่ใช้รมยากลุ่มดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องมีวิธีปฏิบัติในการรมยาที่ถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำ ซึ่งการสลายตัวของสารรมยานี้ จะใช้เวลาเพียง 12-24ชั่วโมง หากสภาวะที่จัดเก็บเปิดโล่งและมีพัดลมระบายอากาศ แต่หากไม่มีพัดลมระบายอากาศการตั้งทิ้งไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ปกติ เจ้าสารตัวนี้จะสลายตัวภายใน 2 – 5 วันขึ้นอยู่กับสถานที่จัดเก็บและรมยาข้าว แต่ก็ยังมีคำถามต่อไปอีกว่า ถ้ามันสลายตัวไปในเวลาดังกล่าวแล้ว มอดและแมลงจะกับมาจัดการข้าวได้อีกหรือเปล่า? ถ้าไม่กลับมา เป็นเพราะอะไร? แต่ถ้ากลับมามิต้องลงมือรมยาอีกกี่รอบต่อกี่รอบ? ทั้งนี้ทั้งนั้นในปัจจุบันเมทิลโบรไมด์นั้นได้มีการส่งเสริมให้เลิกใช้ และใช้สารกลุ่มฟอสฟีนแทน เนื่องจากสารเมทิลโบรไมด์ส่งผลต่อการทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นผลให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง สารสองกลุ่มนี้เป็นพิษหากสูดดมในปริมาณมาก คือในขณะที่มีการรมยา ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะมีผลทำให้เสียชีวิตได้ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงเห็นภาพของหนูตาย และสัตว์พาหะนำเชื้อต่าง ๆ ตายรอบ ๆ กระสอบข้าวสารที่เก็บไว้ในขณะทำการรมยา ซึ่งการตายของสัตว์เหล่านี้มาจากการได้รับก๊าซในขณะรมยา หาใช่ตายเพราะกินข้าวสารเข้าไป
ด้านผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะมีวิธีในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคข้าวอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพเรา มีเทคนิคไม่ยากดังนี้
1. เลือกซื้อข้าวที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดีมากๆ มีแบรนด์ มีบริษัทผู้ผลิตที่ดีเป็นที่รู้จัก (ส่วนใหญ่อยู่ด้านหลังถุงข้าว)บริษัทเหล่านี้มีโรงงานผลิตที่มีระบบรับรองไม่ว่าจะเป็น GMP/HACCP หรือระบบประกันความปลอดภัยทั้งหลาย เพราะโรงงานที่มีระบบนี้ จะถูกตรวจสอบผลของสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างโดยผู้ตรวจประเมิน อันนี้การันตีได้ระดับหนึ่งว่าน่าจะปลอดภัย และเมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ฟ้องร้องได้เพราะมีตัวตน
2. เมื่อเปิดถุงข้าวต้องไม่มีกลิ่นสารเคมีปะปน วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้เราเช็คเบื้องต้นถึงความผิดปกติของการปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ส่วนเรื่องยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรนั้น ไม่สามารถดูหรือดมกลิ่นได้นะคะ คงต้องพึ่งผลการตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการเท่านั้น
3. เลือกซื้อข้าวอินทรีย์ หรือที่เรียกว่าข้าวออร์แกนิคจากร้านที่จำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ หรือเกษตรกรที่ออกร้านตามงานแสดงสินค้าต่าง หรือจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง เพราะชาวนาที่ผลิตข้าวในกลุ่มนี้จะรังเกียจสารเคมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะสารเคมีเหล่านี้มันแพงมากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารสกัดชีวภาพที่ทำเองดีกว่าแทบจะไม่มีต้นทุน ข้าวอินทรีย์เลยเป็นข้าวที่ win win ทั้งผู้บริโภคและชาวนา